วันอังคารที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2558

การถวายงานสมเด็จพระเทพฯ


    การถวายงานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
          มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้ถวายงานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีโดยการจัดตั้งกองทุนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์
      1.   เพื่อสนับสนุนทุนการศึกษาแก่เยาวชน ครูในท้องถิ่นทุรกันดาร ตชด. และบุคคลทั่วไปที่เข้ามาศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แล้วนำความรู้กลับไปพัฒนาท้องถิ่นของตน ตามโครงการพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
       2.  เพื่อสนับสุนทุนการศึกษาแก่นักเรียน นักศึกษาที่เข้ามาศึกษาต่อ ณ มหาวิทยลัยมหาสารคามตามโครงการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ประเทศเพื่อนบ้านของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
       3.   เพื่อสนับสนุนกิจกรรมและโครงการทางด้านการศึกษา สาธารณสุขและสังคมที่มุ่งเน้นแก้ปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ด้อยโอกาสในท้องถิ่นทุรกันดาร
        มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้เริ่มจัดสรรทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนกัมพูชา ตามโครงการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ประเทศเพื่อนบ้าน ด้านการศึกษา ในปีการศึกษา 2551 โดยได้เดินทางไปสอบคัดเลือกนักเรียนกัมพูชา ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยมีนักเรียนกัมพูชาผู้ผ่านการคัดเลือก จำนวน 6 คน ซึ่งเข้ามาศึกษา ณ คณะ การท่องเที่ยวและการโรงแรม, คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์และคณะสาธารณสุขศาสตร์ ในปีการศึกษา 2552 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ส่งผู้แทนจากคณะต่างๆที่ได้จัดสรรทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนกัมพูชาเดินทางไปสอบคัดเลือก ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยมีนักเรียนผู้ผ่านการคัดเลือก 15 คน ซึ่งเข้ามาศึกษา ณ คณะต่างๆ ดังนี้ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมือง และนฤมิตศิลป์, คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม, คณะสาธารณสุขศาสตร์, คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์, วิทยาลัยการเมืองการปกครอง, คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะการบัญชีและการจัดการ
        ในปีการศึกษา 2553 มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้จัดตั้งกองทุนมาเด็จพระเทพฯ ขึ้นและได้ส่งผู้แทนเดินทางไปสอบคัดเลือกนักเรียนกัมพูชา ณ Teacher Training Department ราชอาณาจักกัมพูชา โดยมหาวิทยาลัยมหาสารคามได้จัดสรรทุนการศึกษาให้ทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก และมีผู้ผ่านการคัดเลือกจำนวน 20 คน ซึ่งเข้ามาศึกษา ณ คณะต่างๆ ดังนี้ คณะการบัญชีและการจัดการ, คณะศึกษาศาสตร์, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, คณะพยาบาลศาสตร์, คณะแพทยศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์
          เพื่อให้การดำเนินงานการถวายงานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มหาวิทยาลัยมหาสารคามจึงได้จัดตั้ง คณะอนุกรรมการถวายงานในโครงการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราชอาณาจักรกัมพูชา ด้านการศึกษา ขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยเดินทางไปสอบคัดเลือกนักเรียนกัมพูชา, ดูแลและให้คำปรึกษานักเรียนที่ได้รับทุนการศึกษา และปฏิบัติงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับงานในกองทุนสมเด็จพระเทพฯ
เอกสารที่เกี่ยวข้อง
4. รายงานผลการดำเนินงานนิสิตทุนพระราชทาน ตามโครงการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราชอาณาจักรกัมพูชา ด้านการศึกษา ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๐ - ๒๕๕๒

พระราชประวัติ


  พระราชประวัติ  
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นพระราชธิดาองค์ที่สองในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดากิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ ๒ เมษายน ๒๔๙๘ ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์หม่อมหลวงเกษตร สนิทวงศ์ เป็นผู้ถวายการประสูติ และทรงมีพระนามที่บรรดาข้าราชบริพารเรียกกันทั่วไปว่า "ทูลกระหม่อมน้อย"
                               
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเริ่มการศึกษาระดับอนุบาลในเดือน กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๒ ที่โรงเรียนจิตรลดา ในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ขณะนั้นพระชนมายุได้ ๓ พระชันษาเศษ ทรงมีพระสหายร่วมชั้นเรียนอีก ๒๐ คน ซึ่งมาจากบุตรหลานของพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ ตลอดจนมหาดเล็กผู้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้มาร่วมเรียนด้วยโดยปราศจากชั้นวรรณะ  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดโรงเรียน พระอาจารย์ และพระสหายเป็นอันดี
                          
เมื่อทรงเรียนจบชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ได้ทรงสอบร่วมกับนักเรียนทั่วประเทศโดยใช้ข้อสอบกระทรวงศึกษาธิการ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสอบได้ที่หนึ่ง จึงทรงได้รับพระราชทานรางวัลเรียนดีจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในงานแสดงศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งที่ ๓๑ ณ กรีฑาสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๑๑ ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นี้ เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระปรีชาสามารถในวิชาแทบทุกด้าน เช่น ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ รำไทย ดนตรีไทย และวาดเขียน เป็นต้น นอกจากนี้ยังโปรดทรงหนังสือมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และทรงพระปรีชาสามารถในทางร้อยแก้วและร้อยกรองอย่างยิ่ง ทรงเริ่มบทพระนิพนธ์ต่างๆตั้งแต่เมื่อทรงพระชนมายุได้เพียง ๑๒ พระชันษา เป็นต้นมา บทพระราชนิพนธ์เหล่านี้ได้รับการตีพิมพ์แพร่หลายในหนังสือหลายเล่ม ตัวอย่างเช่น "อยุธยา" "เจ้าครอกวัดโพธิ์" " ศาสนาเกิดขึ้นได้อย่างไร" เป็นต้น บทพระราชนิพนธ์ที่รู้จักกันดีในปัจจุบันคือ"พุทธศาสนสุภาษิตคำโคลง" ซึ่งทรงถอดมาจากภาษาบาลี และ "กษัตริยานุสรณ์" ซึ่งทรงทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ประจำปี ๒๕๑๖ (ขณะนั้นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระชนมายุเพียง ๑๘ พระชันษา)
                            
ทรงศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดานี้จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ โดยทรงสอบไล่ได้เป็นที่หนึ่งของประเทศแผนกศิลปะ ประจำปีการศึกษา ๒๕๑๕ ได้ ยังความภาคภูมิแก่คณะพระอาจารย์ผู้ถวายการสอน และยังความปีติยินดีแก่ประชาชนทั้งประเทศผู้เฝ้ามองการเจริญพระชนมายุของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง
                                                        
นอกจากพระสติปัญญายอดเยี่ยมที่กล่าวมาแล้ว ยังทรงมีอุตสาหะวิริยะอันยอดเยี่ยมอีกด้วย เนื่องจากระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นั้น ทรงมีพระราชภาระที่จะต้องติดตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ไปในการเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรต่างจังหวัดอยู่เป็นประจำ ทำให้ไม่สะดวกต่อการศึกษาเล่าเรียน แต่ก็ทรงติดตามการเรียนอยู่ตลอดเวลา ่ โดยทรงอาศัยเวลาว่างจากการปฎิบัติพระราชกิจประจำวันเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งเรื่องนี้เป็นที่ทราบกันทั่วไปในบรรดาพระสหายร่วมชั้นเรียนของพระองค์ และในยามที่ทรงมีโอกาสได้เข้าศึกษาด้วยพระองค์เองแล้ว บรรดานิสิตอักษรศาสตร์จะได้เห็นภาพที่เจนตา คือภาพที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงถือหนังสือเต็มพระหัตถ์ และทรงหิ้วพระกระเป๋าใบโตบรรจุสรรพตำราเป็นจำนวนมาก ทรงพระดำเนินไปยังห้องเรียนต่างๆ อยู่เป็นประจำ เป็นที่สะดุดตาพิเศษ เนื่องจากนิสิตทั่วๆไป มักถือสมุดหนังสือกันคนละ ๓-๔ เล่มเท่านั้น
ต่อจากชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสอบเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา โดยทรงเลือกคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอันดับที่หนึ่ง ผลการสอบปรากฎว่าทรงได้ที่ ๔ แต่เมื่อได้ทรงเข้าศึกษาเรียบร้อยแล้ว ก็ทรงเลือกเฉพาะวิชาที่สนพระทัย เช่น ภาษไทย ภาษาต่างประเทศ และประวัติศาสตร์ เป็นต้น ในภาคการศึกษาแรกนั้นเอง ก็ทรงสอบได้เป็นที่หนึ่งของนิสิตชั้นปีที่ ๑ คณะอักษรศาสตร์และทรงสอบได้เป็นที่หนึ่งเช่นนี้ทุกปี จนถึงปีสุดท้ายทรงสอบไล่ได้แต้มเฉลี่ย ๓.๙๘ นับเป็นที่หนึ่งของคณะอักษรศาสตร์ เช่นเคย จึงทรงได้รับพระราชทานปริญญาอักษรศาสตร์บัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่งจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ และในวันรุ่งขึ้นยังทรงได้รับพระราชทานรางวัลเหรียญทองในฐานะที่ทรงสอบได้ที่หนึ่งมาทุกปีอีกด้วย
                                           
แม้จะทรงคร่ำเคร่งต่อการศึกษาเล่าเรียนเช่นนี้ แต่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็ยังทรงปลีกเวลาส่วนหนึ่งเข้าร่วมกิจกรรมของคณะอยู่เสมอ กิจกรรมที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเข้าร่วม คือทรงสมัครเรียนเป็นสมาชิกชมรมดนตรีไทย และชมรมวรรณศิลป์ สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งประชาชนทั่วไปมักจะได้พบเห็นภาพที่ทรงดนตรีไทยในโอกาสต่างๆของมหาวิทยาลัยอยู่เนืองๆ โดยโปรดทรงซอด้วงเป็นพิเศษ แม้ว่าจะทรงเครื่องดนตรีได้หลายชนิดก็ตาม ส่วนทางด้านกิจกรรมของชมรมวรรณศิลป์นั้น เคยทรงร่วมกับพระสหายอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นผู้แทนคณะอักษรศาสตร์ แข่งขันกลอนสดระหว่างคณะในมหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลชนะเลิศมาแล้ว โดยก่อนการแข่งขันนั้นต้องทรงสละเวลาในชั่วโมงที่ว่างเรียนมาทรงซ้อมกลอน และทรงแสดงความเป็นปฏิภาณกวีให้บรรดาพระสหายเห็นประจักษ์ในการซ้อมอยู่บ่อยครั้ง ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากที่พระองค์สนพระทัยฝักใฝ่ในวรรณกรรมต่างๆมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์นั่นเอง
                                                                           
 นอกจากกิจกรรมของทางสโมสรนิสิตจุฬาฯ แล้ว ยังทรงเป็นสมาชิกชมรมภาษาไทย ชมรมภาษาตะวันออก และชมรมประวัติศาสตร์ในคณะอักษรศาสตร์ และยังทรงเป็นกรรมการ จัดหาเรื่องลงพิมพ์ในหนังสือ "อักษรศาสตร์พิจารณ์" ของชุมนุมวิชาการคณะอักษรศาสตร์อีกด้วย ในบางครั้งก็พระราชทานบทพระนิพนธ์ลงพิมพ์ด้วย เช่นเรื่อง"การเดินทางไปร่วมพิธีพระบรมศพพระเจ้ากุ๊สตาฟที่ ๖ อดอล์ฟ แห่งประเทศสวีเดน" และร้อยกรองต่างๆ

      สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงได้รับฉายาว่าเป็น"หนอนหนังสือ" พระองค์หนึ่ง นอกจากจะสนพระทัยในการอ่านหนังสืออย่างจริงจังแล้วยังทรงเป็นนักสะสมหนังสือด้วย หนังสือที่มีคุณค่าบางเล่ม ซึ่งไม่ทรงมี แต่พระสหายมีก็จะทรงยืมหนังสือเหล่านั้นจากพระสหายไปอ่าน เพื่อมิให้พลาดหนังสือเล่มนั้นไป จากการอ่านหนังสือเป็นจำนวนมากนี่เอง ทำให้ทรงรอบรู้ในวิชาการต่างๆ เช่น ประวัติศาสตร์โบราณคดี ภาษาไทย และภาษาตะวันออกเป็นอย่างดี
     
หลังจากทรงได้รับพระราชทานปริญญาบัตรอักษรศาสตร์บัณฑิตแล้ว ได้ทรงสมัครเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโทในบัณฑิตวิทยาลัย ทั้งที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยยาลัย และคณะโบราณคดี มหาวิทาลัยศิลปากร ที่คณะอักษรศาสตร์ ทรงเลือกศึกษาวิชาบาลีและสันสกฤต ส่วนที่คณะโบราณคดี ทรงศึกษาวิชาจารึกภาษาตะวันออก การที่นิสิตผู้ใดจะศึกษาต่อระดับปริญญาโทนั้น มิใช่เรื่องง่าย และการศึกษาระดับปริญญาโททั้งสองมหาวิทยาลัยพร้อมกันยิ่งเป็นเรื่องยากกว่าหลายเท่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชกิจมากเกินกว่าจะทรงทำวิทยานิพนธ์ ในระดับปริญญาโทของทั้งสองมหาวิทยาลัยได้พร้อมกัน จึงตัดสินพระทัยเลือกทำวิทยานิพนธ์เรื่อง "จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง"เพื่อรับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิตของมหาวิทยาลัยศิลปากรก่อน ซึ่งวิทยานิพนธ์นี้ได้ผ่านการตรวจสอบของคณะกรรมการไปด้วยดี ทำให้ทรงสำเร็จการศึกษา ได้รับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิตของหมาวิทยาลัยศิลปากร จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยุ่หัว เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๒๒ และ หลังจากนั้น ก็ทรงขะมักเขม้นศึกษาต่อที่บัณฑิตวิทยาลัย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในสาขาวิชาภาษาบาลี-สันสกฤต ได้ทรงทำวิทยานิพนธ์ เรื่อง"ทศบารมีในพุทธศาสนาเถรวาท" จนทรงได้รับพระราชทานปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๒๔ และพระองค์ มิได้ทรงหยุดยั้งการใฝ่หาวิชาความรู้ ได้ทรงศึกษาต่อระดับดุษฎีบัณฑิตในสาขาวิชาพัฒนศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ต่อไปอีก
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ล้วนเน้นหนักทางด้านพระปรีชาสามารถในการศึกษา และการวางพระองค์ในหมู่พระสหาย แต่นอกเหนือจากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังทรงปฏิบัติพระภารกิจสำคัญที่ทรงได้รับมอบหายจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ลุล่วงไปด้วยดี เช่น การเสด็จพระราชดำเนินไปร่วมพิธีพระบรมศพพระเจ้ากุ๊สตาฟที่ ๖ อดอล์ฟ ณ กรุงสต็อคโฮม ประเทศสวีเดน ในปี ๒๕๑๖(ซึ่งได้ทรงพระนิพนธ์เรื่องการเดินทางนี้ไว้ด้วยตามที่กล่าวมาแล้ว)และการเสด็จพระราชดำเนินไปยังประเทศอิสราเอลและอิหร่าน พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลอิสราเอล และเจ้าชายเรซา ปาห์เลวี และเจ้าหญิงฟาราห์นาซ ปาห์เลวี แห่งอิหร่าน เพื่อทอดพระเนตรการพัฒนาของประเทศทั้งสอง เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในประเทศไทย ในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๒๐
ต่อจากนั้น ระหว่างวันที่ ๒๘ เมษายน - ๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๓ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ไปทรงร่วมพิธีสถาปนาเจ้าฟ้าหญิงเบียทริกซ์ขึ้นเป็นพระราชินีแห่งประเทศเนเธอแลนด์ ในปีเดียวกัน ระหว่างวันที่ ๑๙ พฤษภาคม -๓ มิถุนายน ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ไปทรงเยือนประเทศฝรั่งเศส ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลฝรั่งเศส และเยือนประเทศอังกฤษ ระหว่างวันที่ ๘-๑๔ มิถุนายน ๒๕๒๓ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลอังกฤษ เพื่อทอดพระเนตรกิจการด้านการศึกษาและวัฒนธรรม กิจกรรมด้านกาชาด ตลอดจนการพัฒนาในด้านต่างๆ ของประเทศทั้งสอง ทั้งยังเสด็จฯประเทศเบลเยี่ยมเป็นการส่วนพระองค์ ในฐานะราชอาคันตุกะของสมเด็จพระราชาธิบดีโบดวงและพระราชินีฟาบิโอลา ระหว่างวันที่ ๓-๕ มิถุนายน ๒๕๒๓ ด้วย
ปี พ.ศ.๒๕๒๔ ระหว่างวันที่ ๑๑-๒๐ พฤษภาคม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ เยือนประเทศจีน ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยทรงเป็นอาคันตุกะของนายจ้าว จื่อหยาง นายกรัฐมนตรีในโอกาสนี้ได้ทรงพระนิพนธ์หนังสือชื่อ "ย่ำแดนมังกร" บรรยายเรื่องการเดินทาง และบุคคล ตลอดจนสิ่งที่พระองค์ได้ทรงพบปะไว้อย่างละเอียดและสนุกสนานชวนอ่านยิ่ง เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ศกเดียวกัน ก็ทรงเป็นผู้แทนพระองค์เสด็จฯไปทรงร่วมในพิธีอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมารของอังกฤษ และเลดี้ ไดอาน่า ตามคำทูลเชิญของสมเด็จพระบรมราชินีนาถแห่งประเทศอังกฤษด้วย
                  
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๒๕ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯเยือนประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป ดังนี้ ระหว่างวันที่ ๒๙-๓๑ พฤษภาคม ๒๕๒๕ เสด็จฯเยือนสวิส เป็นการส่วนพระองค์ ทรงเยี่ยมองค์การกาชาดสากล และห้องสมุดสหประชาชาติ แล้วเสด็จฯ เมืองโลซานน์ เพื่อเฝ้าฯ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ระหว่างวันที่ ๑-๙ มิถุนายน ๒๕๒๕ เสด็จฯเยือนสาธารณรัฐออสเตรีย ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลออสเตรีย และโดยเฉพาะที่ออสเตรียนี้ สภามหาวิทาลัยอันน์สบรุก ได้ถวายสมาชิกกิตติมศักดิ์ (Honorary Senator ) แห่งมหาวิทยาลัยอินน์สบรุก เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยทราบดีถึงพระปรีชาสามารถด้านต่างๆ และได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายสายสร้อยทอง ( Gold Chain ) ซึ่งนับเป็นสตรีเอเซียคนแรก และเป็นผู้ที่อายุน้อยที่สุดที่ได้รับเกียรตินี้ ต่อจากนั้นระหว่างวันที่ ๙-๒๓ มิถุนายน ๒๕๒๕ จึงได้เสด็จฯ เยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลเยอรมัน ซึ่งทุกสถานที่ที่พระองค์เสด็จฯ ไป สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นที่ประทับใจ ทั้งของชาวไทยที่พำนักในประเทศนั้นๆ และชาวต่างชาติเป็นอย่างยิ่ง ในวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๘ อันเป็นวันคล้ายพระราชสมภพในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลี้ยงทหาร และตำรวจพิการจากโรงพยาบาลต่างๆ ณ ศาลาดุสิดาลัย และในโอกาสนี้ ได้ทรงริเริ่มก่อตั้งมูลนิธิสายใจไทยขึ้นโดยพระราชทานให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีเป็นองค์ประธานมูลนิธิ เนื่องจากทรงตระหนักวดีว่าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯทรงเป็นผู้มีพระทัยอ่อนโยน ทรงพระเมตตา และทรงเอาพระทัยใส่ในทุกข์สุขของผู้อื่นอยู่เสมอ เหมาะสมกับตำแหน่งนี้เป็นอย่างยิ่งในวันนั้นสมเด็จพระนางเจ้าพรระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานเงินส่วนพระองค์จำนวนหนึ่งเป็นทุนเริ่มแรก และได้มีผู้มีจิตศรัทธาทูลเกล้าฯ ถวายเงินสมทบโดยเสด็จพระราชกุศลอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งมูลนิธินี้ มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือทหารตำรวจพลเรือน ตลอดจนอาสาสมัครที่บาดเจ็บ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันประเทศชาติ โดยให้ความช่วยเหลือด้านการเงินหรือส่งเสริมอาชีพแก่ครอบครัวหรือตัวผู้ประสบเคราะห์ร้ายนั้น เพื่อให้เขาเหล่านั้นตระหนักว่าแม้จะพิการหรือเสียชีวิต เขาหรือครอบครัวของเขาก็มิได้ถูกทอดทิ้ง
 ปัจจุบัน มูลนิธิสายใจไทยฯได้มีที่ทำการถาวรแล้วที่ถนนศรีอออยุธยาข้างสถานีตำรวจพญาไทที่ตึกนี้มีการเปิดจำหน่ายสินค้าจากผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิสายใจไทยฯและมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษฯในวันและเวลาราชการด้วยนับวันมูลนิธิสายใจไทยฯก็จะเติบโตและทวีรายจ่ายสูงขึ้นเรื่อยๆ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในฐานะองค์ประทานมูลนิธิฯจึงได้ทรงพระวิตก และทรงพยายามหารายได้ทุกวิถีทางให้แก่มูลนิธิฯอยู่เสมอ ทั้งที่กำลังทรงศึกษาอยู่นั้นไม่ว่าใครจะจัดงานหาเงินเพื่อมูลนิธิสายใจไทยฯถ้าเชิญเสด็จพระราชดำเนินแล้วถ้าทรงว่างพอก็มักไม่ทรงขัดข้อง จากพระปรีชาสามารถและพระกรณียกิจอันดีเลิศเช่นนี้เองจึงทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศและพระอิสริยศักดิ์เป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๐                                                                                                                                                   
                                                                   

      สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีทรงมีพระราชภาระมากยิ่งขึ้นตามวันและเวลาที่ล่วงไป แต่ก็ทรงตั้งพระทัยปฏิบัติพระราชกิจอย่างเข้มแข็ง นอกจากจะทรงดำรงตำแหน่งองค์ประธานมูลนิธิสายใจไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรงพระกรุณาโปรดเก้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำรงตำแหน่งองค์อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๐ ด้วย
                                   
                สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบริหารงานของสภากาชาดไทยด้วยความเอาพระทัยใส่ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงร่วมประชุมคณะกรรมการของสภากาชาดอยู่เสมอ และมีพระราชดำริเพิ่มเติมในกิจการของสภากาชาดอยู่เนืองๆ ทรงชักนำให้สภากาชาดมีบทบาทในการช่วยเหลือประชาชนมากขึ้น และได้เสด็จ พระราชดำเนินออกไปทรงช่วยเหลือประชาชนด้วยพระองค์เอง เช่น เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๒๒ ได้เกิดอุบัติเหตุรถไฟชนกันที่บริเวณสถานีรถไฟตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร มีประชาชนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุครั้งนี้เป็นจำนวนมาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใยราษฎรเหล่านี้อย่างยิ่ง จึงทรงนำเจ้าหน้าที่กองบรรเทาทุกข์สภากาชาดไทยไปเยี่ยมผู้ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งกำลังรับการรักษาในโรงพยาบาลรถไฟ โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลวิชิระ จำนวน ๔๑ ราย ในวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๒๒ และเมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๒๒ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมทหารและราษฎร อำเภอวัฒนานคร และอำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี ที่อพยพหลบหนีมาจากชายแดน ซึ่งกำลังมีภัยจากการปะทะกันระหว่างทหารกัมพูชาสองฝ่าย ราษฎรเหล่านี้เสียขวัญและหวาดผวา ไม่กล้าประกองบอาชีพยังภูมิลำเนาเดิม เพราะบางครั้งก็มีกระสุนปืนตกเข้ามาถึงเตไทย บางครั้งก็มีทหารกัมพูชาออกลาดตระเวนหาเสบียงอาหารตามชายแดน ราษฎรจำต้องโยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ห่างจากชายแดนพอสมควร เพราะไม่แน่ว่าการปะทะกันนั้นจะล้ำเข้ามาในเขตไทยเมื่อใด สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานกำลังใจ และพระราชทนเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นแก่ราษฎรผู้เดือดร้อนเหล่านั้น นอกจากนั้นยังทรงห่วงใหญ่ในสวัสดิภาพของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายทั้งเจ้าหน้าที่ของกาชาดที่ไปปฏิบัติงานช่วยเหลือราษฎรผู้อพยพกับชาวกัมพูชาผู้ลี้ภัย รวมทั้งทหาร ตำรวจ และผู้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ชายแดน จึงได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมสถานีกาชาด หน่วยทหาร และตำรวจในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๒๒ และ              
                          
 ตลอดเวลาที่ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ไปทรงเยี่ยมราษฎรทั่วประเทศนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี จะทรงบันทึกข้อมูลต่างๆถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประดุจราชเลขานุการในพระองค์ เพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงใช้ประกอบพระวิจารณญาณในการช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการชลประทานและแหล่งทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงทรงตัดสินพระทัยเข้าร่วมการอบรมวิทยาการสมัยใหม่ด้านการศึกษาข้อมูลระยะไกล ที่ศูนย์ศึกษาข้อมูลระยะไกล(ASIAN INSTITUTE OF TECHNOLOGY CENTER) สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (ASIAN INSTITUTE OF TECHNOLOGY) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า สถาบัน เอไอที (A.I.T) เมื่อเดือน มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๗
พระราชกรณียกิจของพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี นั้นมีมากมายจนมิอาจบรรยายให้ครบถ้วนได้ แต่ละอย่างล้วนยิ่งใหญ่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติทั้งสิ้น ดูประหนึ่งว่าสตรีธรรมดาผู้ใดก็มิอาจจะรับภาระนี้ไว้ได้ แต่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ก็ทรงรับไว้ด้วยความเต็มพระทัย ด้วยเมตตาอันบริสุทธิ์ที่ทรงมีต่อประชาชนชาวไทยและพระคุณธรรมอันล้ำเลิศของพระองค์ ดังนี้ พระองค์จึงคู่ควรแก่ความเป็น "ปิยชาติ"โดยแท้

พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเทพ


  พระราชกรณียกิจ
          สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงมีพระราชกิจมากมาย ทั้งพระราชกิจที่ทรงสืบสานฯต่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ, พระราชกรณียกิจเยือนต่างประเทศ, พระราชกรณียกิจประจำวัน และพระราชกรณียกิจทางด้านการศึกษา, ด้านพัฒนา, ด้านศิลปวัฒนธรรมและศาสนา, ด้านสาธารณกุศล, ด้านสาธารณสุขและโภชนาการ, ด้านการต่างประเทศ, ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, ด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และด้านเกษตรกรรม
          พระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระองค์ คือ การพัฒนาด้านการศึกษา เนื่องด้วยพระองค์ทรงเป็นนักการศึกษาและโปรดที่จะศึกษาหาความรู้ต่างๆอย่างจริงจัง ดังนั้น พระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษาจึงกำเนิดขึ้นโดยจัดทำเป็นโครงการตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ดังนี้
          โครงการในประเทศไทย: การพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร, การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ, การพัฒนากำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, การพัฒนาการศึกษาในชุมชนเมือง, การศึกษาพิเศษเพื่อผู้พิการ, การพัฒนาศูนย์ข้อมูลและห้องสมุด, มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ,
          โครงการรระหว่างประเทศ: วิทยาลัยกำปงเฌอเตียล จังหวัดกำปงธม ราชอาณาจักรกัมพูชา, ความร่วมมือระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, ความร่วมมือระหว่างราชอาณาจักรไทยและสหภาพพม่าในการพัฒนาเด็กและเยาวชน, ความร่วมมือระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามในการพัฒนาเด็กและเยาวชน, ความร่วมมือระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน, ความร่วมมือระหว่างราชอาณาจักรไทยและมองโกเลีย, การพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับเด็กและเยาวชนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก, ทุนการศึกษาพระราชทานสำหรับนักเรียนไทยศึกษาต่อในต่างประเทศ, ความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ
           โครงการตามพระราชดำริของพระองค์ล้วนแต่ทำให้เกิดการพัฒนา ความร่วมมือระหว่างประเทศ และเป็นการสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ ซึ่งมหาวิทยาลัยมหาสารคามได้ร่วมตอบสนองโครงการตามพระราชดำริของพระองค์ด้วยการจัดสรรทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนกัมพูชาให้เข้ามาศึกษา ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ดังนั้น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จึงได้จัดตั้งกองทุนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขึ้นเพื่อจัดสรรทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนหรือเยาวชนที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดาร ตำรวจตะเวนชายแดน และนักเรียนในโครงการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ประเทศเพื่อนบ้าน ด้านการศึกษา
พระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับกองทุนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
1. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชุมารี พระราชทานพระวโรกาสให้นิสิตกัมพูชาเข้าเฝ้าฯ
2. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชวโรกาสให้นักเรียนทุนพระราชทานฯ เข้าเฝ้าฯ